รูปแบบของการขนส่ง (Mode of Transportation)
การขนส่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ย่อโลกให้เล็กลง ซึ่งได้ปฏิเสธกฏของธรรมชาติที่ว่าด้วยระยะทางและเวลาไปจากเดิม นับตั้งแต่โบราณกาลที่มนุษย์ออกเดินทางเพื่อการล่าสัตว์มาเป็นอาหาร การเดินทางไปมาหาสู่กัน มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน มนุษย์ก็ได้เริ่มต้นจากการนำสัตว์มาเป็นพาหนะ เพื่อการเดินทางและขนส่งสิ่งของสัมภาระต่างๆ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังค้นคิดวิวัฒนาการ รูปแบบของยานพาหนะก็จะยังคงพัฒนาต่อไป เพื่อให้ก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆ อันได้แก่ ถนนหนทางที่ทุรกันดาร ผืนน้ำกว้างใหญ่หรือท้องทะเล แม้แต่ท้องฟ้าหรือห้วงอวกาศ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ ที่เรียกว่า "ยานพาหนะ" ขึ้นมาท้าทายธรรมชาติได้ทุกเมื่อ และหากจะแบ่งกลุ่มของยานพาหนะตามลักษณะการใช้งานก็น่าจะจัดแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ
- ยานพาหนะเพื่อขนส่งบุคคล และ
- ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสิ่งของ หรือสินค้า
การขนส่ง ถูกจัดความสำคัญไว้เป็นลำดับต้นๆ ที่ช่วยสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งยังมีบทบาทเป็นดรรชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น การขนส่ง จึงมิใช่เรื่องของการพัฒนายานพาหนะ หรือการแข่งขันทางด้านยนตกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึง ระบบกระบวนวิธีการ ที่เรียกว่า ระบบการขนส่ง หรือกระบวนการบริหารจัดการทางด้านการขนส่งอย่างเป็นระบบ อาทิเช่น ในแง่การขนส่งบุคคล ก็จำเป็นต้องมี ระบบขนส่งมวลชน ที่มีประสิทธิภาพ ในแง่การขนส่งสินค้า ก็ยิ่งต้องใช้วิธีการทางโลจิสติกส์เข้ามาบูรณาการอย่างเป็นระบบ
การขนส่งสินค้า ในยุคเริ่มแรกของการขนส่งเพื่อการค้าขาย ก็อาจจะเป็นการขนส่งโดยใช้เป็นยานพาหนะเทียมเกวียณ ชักลากสิ่งของ หรือล้อเลื่อน โดยอาศัยแรงงานจากสัตว์ เช่น ช้าง ม้า ลา ล่อ อูฐ กวาง หรือแม้แต่ สุนัข เป็นต้น หลังจากนั้น ก็พัฒนาไปสู่ระบบราง เพื่อให้ขนส่งสินค้าได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้ และก้าวเข้าสู่ยุคของการเดินทางข้ามมหาสมุทร การขนส่งสินค้าทางเรือ จึงเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และได้ก่อกำเนิดกฏกติกาว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเล (ทางน้ำ) ขึ้น และเป็นแม่บทของระบบการขนส่งสินค้าสมัยใหม่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โลกจะได้พัฒนาอุตสาหกรรมทางการบิน ไปสู่เชิงพาณิชย์ มีการสร้างเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อการลำเลียงสินค้าโดยเฉพาะที่เรียกว่า เครื่องบินบรรทุกสินค้า (Air Freighter) และการขนส่งสินค้า ก็ยังคงปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการไปอย่างต่อเนื่อง จากนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นผลผลิตทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างไม่หยุดยั้ง อันได้แก่ การขนส่งน้ำมัน และก๊าซทางระบบท่อส่ง หรือท่อลำเลียง ซึ่งไม่ต้องใช้ยานพาหนะแต่อย่างใด และล่าสุดก็คือ การอัพโหลด และดาวน์โหลด ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออื่นๆ ซึ่งได้ข้ามผ่านข้อจำกัดของรูปแบบ และยานพหนะไปแล้ว แต่เพื่อให้เราสะดวกต่อการศึกษาทำความเข้าใจ จึงอาจจะกำหนดรูปแบบของการขนส่งไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ดังนี้
รูปแบบของการขนส่ง (Mode of Transportation)
- การขนส่งทางน้ำ หรือทางเรือ (Water/Ship Transportation)
- การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)
- การขนส่งทางรถยนต์ หรือทางรถบรรทุก (Truck Transportation)
- การขนส่งทางทางรถไฟ หรือระบบราง (Rail Transportation)
- การขนส่งทางระบบท่อ (Pipeline Transportation)
การขนส่งทางท่อ (Pipeline Transportation)
การขนส่งทางท่อ (Pipeline Transportation) เป็นระบบขนส่งที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากสินค้าที่ขนส่งต้องอยู่ในรูปของเหลว โดยบริเวณที่ท่อผ่านจะต้องมีความชันไม่มากเกินไป เพื่อให้ของเหลวที่ไหลผ่านท่อไม่ไหลย้อนกลับและไม่มีการขนส่งเที่ยวกลับ สินค้าที่นิยมขนส่งทางท่อ ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)
เนื่องจากเวลาเป็นอุปสรรคสำคัญในการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะทางเรือและทางถนน สำหรับสินค้าบางประเภทแล้วเวลาที่ใช้ในการขนส่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุม เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจให้มากที่สุด การเลือกใช้เส้นทางการขนส่ง และรูปแบบของการขนส่งจึงต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ยิ่งสินค้าที่มีความบอบบาง หรือต้องควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ เช่น ดอกไม้ ผลไม้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกใช้รูปแบบการขนส่งที่ต้องแข่งกับเวลา และลดความเสียหายของสินค้าที่มีสาเหตุจากการขนส่ง การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Transportation) จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆที่ถูกเลือกใช้ ด้วยลักษณะเฉพาะตัวเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น
การขนส่งทางน้ำ/ทางเรือ (Water Transportation)
การขนส่งสินค้าทางน้ำหรือทางเรือ (Water Transportation) ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการขนส่งที่เก่าแก่ที่สุด ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ด้วยคุณลักษณะเฉพาะของการขนส่งสินค้าทางน้ำหรือทางเรือที่เหมาะกับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณคราวละมากๆ น้ำหนักเยอะ และต้องการต้นทุนที่ต่ำ
การขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ต่างมีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นการขนส่งสินค้าทางน้ำหรือทางเรือนั้น แม้ว่าจะเป็นรูปแบบการขนส่งที่เหมาะกับทุกประเภทธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน เวลา(Timing)ของการได้รับสินค้านั้น ย่อมใช้เวลามากตามไปด้วย ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าและส่งออกสินค้าจึงควรศึกษาและทําความเข้าใจในองค์ประกอบ และขั้นตอนต่างๆก่อนการตัดสินใจ
การขนส่งรถยนต์หรือรถบรรทุก (Truck Transportation)
การขนส่งทางรถยนต์หรือทางรถบรรทุก (Truck Transportation) ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการขนส่งทางบก ประกอบกับรัฐบาลได้มีนโยบายการสร้างถนน การขยายเส้นทาง และการผลักดันให้เกิดกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิเช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ทำให้เกิดถนนสายเศรษฐกิจ (R3A -R3B ,R9) ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายระหว่างประเทศมีความสะดวก และคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งการขนส่งทางรถยนต์หรือทางรถบรรทุกนั้น สามารถแก้ปัญหาในด้านการจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิตได้เป็นอย่างมาก ผู้ค้าสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่สั่งจะส่งถึงมือในเวลาอันรวดเร็ว
การขนส่งทางรถไฟ (Rail Transportation)
การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Rail Transportation) มีข้อดี คือสามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อหน่วยต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่นๆ ซึ่งสินค้าที่ทำการขนส่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่ำและมีน้ำหนักมาก เช่น ถ่านหิน ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ข้าว น้ำตาล แร่ดิบต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการขนส่งทางรถไฟจะมีข้อเสียทางด้านของเวลา และความต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการการเปลี่ยนรถตามสถานีรถไฟหรือชุมทางรถไฟ รวมทั้งขบวนรถไฟที่มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น