สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับกรมประมงและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ( AIT ) ดำเนินการโครงการวิจัยศึกษาการนำเศษเหลือทิ้งของกุ้งมาใช้ประโยชน์ โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. รับผิดชอบในการพัฒนากระบวนการผลิตระดับโรงงานนำทางและระดับอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้งแบบครบวงจร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถผลิตน้ำโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง ที่มีความเข้มข้นถึง 30-40 % ของวัตถุดิบแห้ง ประสิทธิภาพดีเยี่ยม เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้งที่ วว. พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกันคือ เครื่องบด ถังหมัก เครื่องกรองแยกกากและเครื่องระเหย ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากนำหัวกุ้งที่เหลือจากโรงงานแช่เยือกแข็ง โรงงานกุ้งกระป๋องต่างๆ นำมาบดหยาบด้วยเครื่องบดให้ได้ขนาด 1 เซนติเมตร หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการหมักในถังหมัก แล้วจึงใส่อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีจุลินทรีย์ ซึ่งเตรียมได้จากห้องปฏิบัติการของศูนย์จุลินทรีย์ วว. สำหรับในการหมักนี้จะต้องรักษาอุณหภูมิและความเป็นกรด-เบส ( pH ) ให้เหมาะสม จากนั้นนำมากรองแยกกากด้วยเครื่องกรองแยกกาก ซึ่งจะแยกน้ำหมักและกากออกจากกัน โดยกากส่วนนี้คือวัตถุดิที่นำไปทำไคติน ไคโตซานและในส่วนของน้ำหมัก ( Hydrolysate ) ที่แยกได้จะนำเข้าสู่เครื่องระเหยเพื่อฆ่าเชื้อและจะได้น้ำโปรตีนเข้มข้น ปัจจัยที่มีผลต่อการสกัดโปรตีน คือ ความสดของหัวกุ้ง หากนำหัวกุ้งสดมาสกัด ก็จะได้โปรตีนสูง ในขณะที่หัวกุ้งไม่สดจะได้น้อย เนื่องจากโปรตีนจะถูกทำลายหรือหากเป็นกุ้งคนละพันธุ์ก็จะให้ปริมาณโปรตีนที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของการหมักด้วย ตลอดจนการควบคุมอุณหภูมิ และการควบคุมค่าความเป็นกรด-เบส โปรตีนเข้มข้นที่ผลิตได้นี้สามารถนำไปผสมเป็นอาหารเลี้ยงกุ้งในสัดส่วนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร เช่น อาหารของกุ้งวัยอ่อน กุ้งอนุบาล โดยสามารถใช้ทดแทนอาหารเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน คือ อาทีเมีย (ไรชนิดหนึ่ง ใช้เป็นอาหารเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน) ที่มีราคาแพงทั้งยังต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ มูลค่าปีละนับพันล้านบาท โดยน้ำโปรตีนเข้มข้นที่เหลือจากการผสมสามารถเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีความเย็นต่ำ เพื่อเป็นวัตถุดิบที่พร้อมนำไปผสมกับอาหารสัตว์ในสูตรต่างๆ ต่อไป โดยปกติจะเก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่สำหรับในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมหรือโรงงานจะเก็บไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น ก็นำผสมเป็นอาหารสัตว์หมด เพราะหากเก็บไว้นานก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
ขณะนี้ วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับภาคเอกชน คือ บริษัท เวท ซุปพีเรีย คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อย และได้ดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีไว้แล้ว
คุณลักษณะเด่นของการผลิตโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง
- ทำงานแบบครบวงจร
- ผลิตน้ำโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้งที่มีความเข้มข้น 30-40 % ของวัตถุดิบแห้ง
- เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม
- น้ำโปรตีนเข้มข้นนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย
- ทดแทนการนำเข้าอาหารลูกกุ้ง , อาทีเมีย
รายละเอียดการผลิตโปรตีนเข้มข้นจากหัวกุ้ง
- ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ เครื่องบด ถังหมัก เครื่องกรองแยกกากและเครื่องระเหย
- กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 200 - 300 กิโลกรัมต่อวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น